พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕
หน้า 1 | หน้า 2 | หน้า 3   หน้าถัดไป

พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
ระเบียบข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. ๒๕๓๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
           โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
           จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
           มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕"
           มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
           มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
           (๑) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘
           (๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายนพุทธศักราช ๒๕๒๐
           (๓) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๒๑
           (๔) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑
           (๕) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๒
           (๖) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๓
           (๗) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๑
           (๘) ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๕ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔
           บรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน และมิให้นำคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๓๘/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙มาใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือน
           มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้"ข้าราชการพลเรือน" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน
           "ข้าราชการฝ่ายพลเรือน" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมายให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน
           "กระทรวง" หมายความรวมถึงส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงหรือมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงด้วย"
           รัฐมนตรีเจ้าสังกัด" หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวงและหมายความรวมถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงด้วย
           "ปลัดกระทรวง" หมายความรวมถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดทบวงด้วย
           "รองปลัดกระทรวง" หมายความรวมถึงรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและรองปลัดทบวงด้วย
           "กรม" หมายความรวมถึงส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมด้วย
           "อธิบดี" หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมด้วย
           "รองอธิบดี" หมายความรวมถึงรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมด้วย
           "ผู้ช่วยอธิบดี" หมายความรวมถึงผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมด้วย
           "ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี" หมายความว่า ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินบัญญัติให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
           มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ลักษณะ ๑
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

           มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า "ก.พ." ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเลขาธิการก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านระบบราชการและการจัดส่วนราชการ ด้านการพัฒนาองค์การ ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเจ็ดคน ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า แต่ถ้าจะแต่งตั้งผู้ที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการแต่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าจะดำเนินการเพื่อแต่งตั้งได้ไม่เกินสามคน
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวงหัวหน้าหรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงหัวหน้าหรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในกระทรวงทบวง กรมฝ่ายพลเรือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนห้าคนซึ่งแต่ละคนสังกัดอยู่ต่างกระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และมิได้เป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว
           กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๒) ผู้ใดออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปสังกัดกระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงอื่นที่มีกรรมการตาม (๒)สังกัดอยู่แล้ว ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งกรรมการ
           มาตรา ๗ กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนกำหนดและยังมีกรรมการดังกล่าวเหลืออยู่อีกไม่น้อยกว่าห้าคน ให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
           เมื่อตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนกำหนดให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนภายในกำหนดสามสิบวัน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
           กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอีกก็ได้
           ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่
           มาตรา ๘ ก.พ.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
           (๑) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน และการจัดระบบราชการพลเรือน
           (๒) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน
           (๓) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน การจัดและการพัฒนาส่วนราชการและวิธีปฏิบัติราชการของข้าราชการฝ่ายพลเรือน
           (๔) พิจารณากำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการพลเรือน
           (๕) ออกกฎ ก.พ. ข้อบังคับ หรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
           (๖) ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ มติของ ก.พ. ตามข้อนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
           (๗) กำกับ ดูแล ตรวจสอบ แนะนำและชี้แจงเพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้ ให้มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือบุคคลใด ๆ หรือให้ผู้แทนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วนบริษัท ข้าราชการหรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริง และให้มีอำนาจออกระเบียบให้กระทรวง ทบวง กรมรายงานเกี่ยวกับการสอบ การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ ตลอดจนการรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งและของส่วนราชการ การเปลี่ยนแปลงการใช้ตำแหน่ง ทะเบียนประวัติของข้าราชการพลเรือน และการปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ไปยัง ก.พ.
           (๘) รายงานนายกรัฐมนตรีในกรณีที่ปรากฏว่ากระทรวง ทบวง กรม ไม่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติการโดยไม่เหมาะสม เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้พิจารณาและสั่งการต่อไป
           (๙) รายงานคณะรัฐมนตรีในกรณีที่ค่าครองชีพเปลี่ยนแปลงไปมาก หรือการจัดสวัสดิการหรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการยังไม่เหมาะสม เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในอันที่จะปรับปรุงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ สวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการพลเรือนให้เหมาะสม
           (๑๐) กำหนดนโยบายและออกระเบียบเกี่ยวกับทุนของรัฐบาลเพื่อสนองความต้องการกำลังคนของกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน และทุนเล่าเรียนหลวง ตลอดจนการจัดสรรผู้รับทุนของรัฐบาลที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการในส่วนราชการต่าง ๆ
           (๑๑) ออกข้อบังคับหรือระเบียบเพื่อควบคุมดูแลข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่ศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ และเพื่อดูแลจัดการการศึกษาของนักเรียนฝ่ายพลเรือนในต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อควบคุมการศึกษา ความประพฤติ และการใช้จ่าย ตลอดจนการเก็บเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษาการกำหนดวินัย และการลงโทษสำหรับนักเรียนดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษาเป็นเงินรายรับของส่วนราชการที่เป็นสถานอำนวยบริการอันเป็นสาธารณประโยชน์ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
           (๑๒) พิจารณารับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ในการบรรจุและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับและระดับตำแหน่งที่ควรแต่งตั้ง
           (๑๓) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
           (๑๔) พิจารณาการแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิด และการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน
           (๑๕) ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้และกฎหมาอื่น
           มาตรา ๙ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับรายงานของ ก.พ.ตามมาตรา ๘(๘) ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติการให้ถูกต้องหรือเหมาะสมต่อไป และให้กระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
           ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับมติของ ก.พ. ที่รายงานตามมาตรา ๘(๘) ให้ส่งความเห็นของนายกรัฐมนตรีให้ ก.พ.พิจารณาและถ้า ก.พ. พิจารณาแล้วยังยืนยันตามมติเดิม ให้ ก.พ.รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติประการใดให้ ก.พ. และกระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี
           มาตรา ๑๐ การประชุม ก.พ. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
           ในการประชุม ก.พ. ถ้าประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน
           ในการประชุม ก.พ. ถ้ามีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับตัวกรรมการผู้ใดโดยเฉพาะผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม
           ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐ การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
           มาตรา ๑๑ ก.พ. มีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญ เรียกโดยย่อว่า"อ.ก.พ.วิสามัญ" เพื่อทำการใด ๆ แทนได้
           การตั้ง อ.ก.พ.วิสามัญเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ ให้ตั้งจากกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งอย่างน้อยสองคน และข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมด
           อนุกรรมการซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือน ถ้าออกจากราชการพลเรือน ให้พ้นจากตำแหน่ง
           ในกรณีที่กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ อ.ก.พ.วิสามัญที่ได้รับแต่งตั้งจาก ก.พ.คณะนั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ในระหว่างที่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่ให้ อ.ก.พ.วิสามัญปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้ง อ.ก.พ.วิสามัญใหม่
           มาตรา ๑๒ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเรียกโดยย่อว่า "สำนักงาน ก.พ." โดยมีเลขาธิการ ก.พ.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน ก.พ. ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีสำนักงาน ก.พ.มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
           (๑) เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.พ. และดำเนินการตามที่ ก.พ.มอบหมาย
           (๒) วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการจัดระบบราชการพลเรือน
           (๓) ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน
           (๔) ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน การจัดและการพัฒนาส่วนราชการ และวิธีปฏิบัติราชการของข้าราชการฝ่ายพลเรือน
           (๕) พัฒนาระบบข้อมูลและจัดทำแผนกำลังคนในราชการพลเรือน
           (๖) ส่งเสริม ประสานงาน เผยแพร่ ให้คำปรึกษาแนะนำ และดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสำหรับข้าราชการพลเรือน
           (๗) ประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการพลเรือน
           (๘) ดำเนินการเกี่ยวกับทุนของรัฐบาลเพื่อสนองความต้องการกำลังคนของกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน และทุนเล่าเรียนหลวง ตลอดจนการจัดสรรผู้รับทุนของรัฐบาลที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการในส่วนราชการต่าง ๆ ตามนโยบายและระเบียบที่ ก.พ. กำหนด
           (๙) ดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่ศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ และการดูแลจัดการการศึกษาของนักเรียนฝ่ายพลเรือนในต่างประเทศ
           (๑๐) ดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญาประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน และการกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับและระดับตำแหน่งที่ควรแต่งตั้ง
           (๑๑) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาทะเบียนประวัติและการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน
           (๑๒) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน เสนอต่อ ก.พ.
           มาตรา ๑๓ ให้มีคณะอนุกรรมการสามัญเรียกโดยย่อว่า อ.ก.พ.สามัญดังนี้
           (๑) คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง เรียกโดยย่อว่า อ.ก.พ.กระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงโดยออกนามกระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการนั้น ๆ
           (๒) คณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม เรียกโดยย่อว่า อ.ก.พ.กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม โดยออกนามกรม หรือส่วนราชการนั้น ๆ
           (๓) คณะอนุกรรมการสามัญประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า อ.ก.พ.จังหวัด โดยออกนามจังหวัดนั้น ๆ
           มาตรา ๑๔ อ.ก.พ.กระทรวง ประกอบด้วยรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเป็นรองประธาน และผู้แทน ก.พ. ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ. หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง และอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จำนวนสามคนทั้งนี้ จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๐ขึ้นไปในกระทรวงนั้น ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนห้าคน ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทอื่นบัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนไปใช้บังคับแก่ข้าราชการประเภทใดคำว่า "ข้าราชการพลเรือน" ให้หมายถึงข้าราชการประเภทนั้น
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ถ้าออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปรับราชการนอกกระทรวงเดิม ให้พ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๑๕ อ.ก.พ.กระทรวง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
           (๑) พิจารณากำหนดนโยบายและระบบการบริหารงานบุคคลตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติราชการในกระทรวง
           (๒) พิจารณาการกำหนดและการเกลี่ยอัตรากำลังระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ภายในกระทรวง
           (๓) พิจารณาปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารงาน การจัดและการพัฒนาส่วนราชการในกระทรวง
           (๔) พิจารณากำหนดนโยบาย กำกับดูแล และส่งเสริมเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการภายในกระทรวง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดี คุณธรรมและจริยธรรม อันจะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           (๕) พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
           (๖) พิจารณาให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดปรึกษา
           (๗) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ และช่วย ก.พ. ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ ก.พ. มอบหมาย
           (๘) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อ.ก.พ.กระทรวง เสนอต่อ ก.พ.
           มาตรา ๑๖ อ.ก.พ.สำนักนายกรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน และผู้แทน ก.พ.ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ.หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง และอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ.แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จำนวนสามคนทั้งนี้ จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๐ ขึ้นไปในสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนห้าคน
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน และให้ อ.ก.พ. นี้ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ถ้าออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปรับราชการนอกสำนักนายกรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๑๗ อ.ก.พ.ทบวง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นประธานปลัดทบวงเป็นรองประธาน และผู้แทน ก.พ. ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ.หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง และอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ.แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จำนวนสามคนทั้งนี้ จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวง อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๐ ขึ้นไปในทบวงนั้น ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนห้าคน
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน และให้ อ.ก.พ. นี้ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวง
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ถ้าออกจากราชการ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปรับราชการนอกทบวงเดิม ให้พ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๑๘ ให้ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีมี อ.ก.พ.ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการนั้นเป็นรองประธานและผู้แทน ก.พ.ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ.หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง และอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนสามคนทั้งนี้ จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ๙ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๙ ขึ้นไปในส่วนราชการนั้น ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือน ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนห้าคน ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทอื่นบัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนไปใช้บังคับแก่ข้าราชการประเภทใดคำว่า "ข้าราชการพลเรือน" ให้หมายถึงข้าราชการประเภทนั้น
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ถ้าออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปรับราชการนอกส่วนราชการเดิม ให้พ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๑๙ ให้ราชบัณฑิตยสถาน มี อ.ก.พ.ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวงประกอบด้วยรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นประธาน นายกราชบัณฑิตยสถานเป็นรองประธานเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน และผู้แทน ก.พ. ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ.หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง และอนุกรรมการซึ่งประธานอ.ก.พ. แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนสามคน ทั้งนี้จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ๙หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ๙ ในราชบัณฑิตยสถานซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนห้าคน
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ถ้าออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปรับราชการนอกราชบัณฑิตยสถาน ให้พ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๒๐ ให้นำความในมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับแก่ อ.ก.พ.สำนักนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖ อ.ก.พ.ทบวงตามมาตรา ๑๗ อ.ก.พ. ทำหน้าที่อ.ก.พ.กระทรวง ตามมาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ โดยอนุโลม
           มาตรา ๒๑ อ.ก.พ.กรมและ อ.ก.พ.ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมประกอบด้วยอธิบดีเป็นประธาน รองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมายหนึ่งคนเป็นรองประธานและอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนสามคนทั้งนี้ จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีที่มิได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธาน ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๙ ขึ้นไป ผู้ช่วยอธิบดี ผู้อำนวยการกองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากอง หรือเลขานุการกรมในกรมนั้น ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนหกคน ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทอื่นบัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนไปใช้บังคับแก่ข้าราชการประเภทใด คำว่า "ข้าราชการพลเรือน" ให้หมายถึงข้าราชการประเภทนั้น
           สำหรับสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง ให้ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวง หรืออ.ก.พ.สำนักงานปลัดทบวง แล้วแต่กรณี ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กรม
           ส่วนราชบัณฑิตยสถานให้ อ.ก.พ. ตามมาตรา ๑๙ ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กรม
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ถ้าออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) หรือโอนไปรับราชการนอกกรมเดิม ให้พ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๒๒ อ.ก.พ.กรม และ อ.ก.พ.ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
           (๑) พิจารณากำหนดนโยบายและระบบการบริหารงานบุคคลตลอดจนระเบียบวิธีการปฏิบัติราชการในกรม
           (๒) พิจารณาการกำหนดและการเกลี่ยอัตรากำลังระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ภายในกรม
           (๓) พิจารณาปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารงาน การจัดและการพัฒนาส่วนราชการในกรม
           (๔) พิจารณากำหนดนโยบาย กำกับดูแล และส่งเสริมเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการภายในกรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดี คุณธรรมและจริยธรรม อันจะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           (๕) พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
           (๖) พิจารณาให้ความเห็นแก่อธิบดีตามที่อธิบดีปรึกษา
           (๗) ปฏิบัติการตามที่ อ.ก.พ.กระทรวงมอบหมาย
           (๘) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ และช่วย ก.พ. ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ ก.พ.มอบหมาย
           (๙) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อ.ก.พ.กรม เสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัด และ ก.พ.
           มาตรา ๒๓ อ.ก.พ.จังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายหนึ่งคนเป็นรองประธาน และอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งจาก
           (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้วและเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนสามคน ทั้งนี้ จะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
           (๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่มิได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธาน ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดที่กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ แต่งตั้งไปประจำจังหวัดนั้น ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.จำนวนหกคน ซึ่งแต่ละคนสังกัดอยู่ต่างกระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวง
           ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการหนึ่งคน
           อนุกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งและได้รับเลือกตาม (๒) ผู้ใดออกจากราชการพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งตาม (๒) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในจังหวัดอื่น หรือโอนไปสังกัดกระทรวง ทบวง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงอื่นที่มีอนุกรรมการตาม (๒) สังกัดอยู่แล้ว ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการ
           มาตรา ๒๔ อ.ก.พ.จังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
           (๑) พิจารณากำหนดนโยบายและระบบการบริหารงานบุคคลตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติราชการในจังหวัด
           (๒) พิจารณากำหนดนโยบาย และประสานการพัฒนาข้าราชการในจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนกำกับดูแลและส่งเสริมเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการในจังหวัด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีคุณธรรมและจริยธรรม อันจะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           (๓) พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
           (๔) พิจารณาให้ความเห็นแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปรึกษา
           (๕) ปฏิบัติการตามที่ อ.ก.พ.กระทรวง อ.ก.พ.ทบวง หรืออ.ก.พ.กรม มอบหมาย
           (๖) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ และช่วย ก.พ. ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ ก.พ.มอบหมาย
           (๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อ.ก.พ.จังหวัด เสนอต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องและ ก.พ.
           มาตรา ๒๕ อนุกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๖(๑) และ (๒) มาตรา ๑๗ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๘ (๑) และ (๒)มาตรา ๑๙ (๑) และ (๒) มาตรา ๒๑ (๑) และ (๒) และมาตรา ๒๓ (๑)และ (๒) ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี ถ้าตำแหน่งอนุกรรมการว่างลงก่อนกำหนดและยังมีอนุกรรมการเหลืออยู่อีกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของอนุกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๖ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๗(๑) และ (๒) มาตรา ๑๘ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๙ (๑) และ (๒)มาตรา ๒๑ (๑) และ (๒) หรือมาตรา ๒๓ (๑) และ (๒) แล้วแต่กรณี รวมกันให้อนุกรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
           เมื่อตำแหน่งอนุกรรมการว่างลงก่อนกำหนดให้ดำเนินการแต่งตั้งอนุกรรมการแทนภายในกำหนดสามสิบวัน เว้นแต่วาระของอนุกรรมการเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งอนุกรรมการแทนก็ได้ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
           อนุกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง จะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการอีกก็ได้
           ในกรณีที่อนุกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งอนุกรรมการใหม่ให้อนุกรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งอนุกรรมการใหม่
           มาตรา ๒๖ กระทรวงหรือทบวงใดมีเหตุพิเศษ ก.พ.จะอนุมัติให้มีแต่อ.ก.พ.กระทรวง หรือ อ.ก.พ.ทบวง แล้วแต่กรณีก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ อ.ก.พ.กระทรวง หรือ อ.ก.พ.ทบวง ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กรมด้วย
           มาตรา ๒๗ กระทรวง ทบวง กรมใดมีเหตุพิเศษ ก.พ. จะกำหนดจำนวนอนุกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) มาตรา ๑๘ (๒) มาตรา ๑๙ (๒) มาตรา ๒๑ (๒) หรือมาตรา ๒๓ (๒) แล้วแต่กรณี ให้น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรานั้น ๆ ก็ได้
           มาตรา ๒๘ ให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การประชุมของ อ.ก.พ.วิสามัญ และ อ.ก.พ.สามัญ โดยอนุโลม

ลักษณะ ๒
บททั่วไป

           มาตรา ๒๙ ข้าราชการพลเรือนมี ๓ ประเภท
           (๑) ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการโดยได้รับเงินเดือนในอัตราสามัญ และได้รับแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ ๓
           (๒) ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
           (๓) ข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในต่างประเทศในกรณีพิเศษโดยเหตุผลทางการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ ๕
           มาตรา ๓๐ ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังต่อไปนี้
           (๑) มีสัญชาติไทย
           (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
           (๓) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ
           (๔) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
           (๕) ไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
           (๖) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
           (๗) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
           (๘) ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
           (๙) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
           (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
           (๑๑) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
           (๑๒) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
           (๑๓) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
           (๑๔) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ
           ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งขาดคุณสมบัติตาม (๗)(๙) (๑๐) หรือ (๑๔) ก.พ.อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ ส่วนผู้ที่ขาดคุณสมบัติตาม (๑๑) หรือ (๑๒) ถ้าผู้นั้นได้ออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสองปีแล้วหรือผู้ที่ขาดคุณสมบัติตาม (๑๓) ถ้าผู้นั้นได้ออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว และมิใช่เป็นกรณีออกจากงานหรือออกจากราชการเพราะกระทำผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ ก.พ.อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ มติของ ก.พ.ในการประชุมปรึกษายกเว้นเช่นนี้ต้องได้คะแนนเสียงสี่ในห้าของจำนวนกรรมการในที่ประชุม การลงมติให้กระทำโดยลับ
           การขอยกเว้นและการพิจารณายกเว้นในกรณีที่ขาดคุณสมบัติทั่วไปให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.พ.วางไว้
           ผู้ที่เป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามวรรคหนึ่งตลอดเวลาที่รับราชการ เว้นแต่คุณสมบัติตาม (๖) หรือได้รับการยกเว้นในกรณีที่ขาดคุณสมบัติตามวรรคสอง
           มาตรา ๓๑* อัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่งและการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
           การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่ข้าราชการพลเรือนให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
           *(มาตรา ๓๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๘)
           มาตรา ๓๒ เพื่อประโยชน์ในการออมทรัพย์ของข้าราชการพลเรือนคณะรัฐมนตรีจะวางระเบียบและวิธีการให้กระทรวงการคลังหักเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนไว้เป็นเงินสะสมก็ได้ โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินสะสมนั้นให้ในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารพาณิชย์
           เงินสะสมและดอกเบี้ยนี้ให้จ่ายคืนหรือให้กู้ยืมเพื่อดำเนินการตามโครงการสวัสดิการสำหรับข้าราชการพลเรือนตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
           มาตรา ๓๓ ข้าราชการพลเรือนอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ หรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตามระเบียบที่ ก.พ.และกระทรวงการคลังกำหนด
           มาตรา ๓๔ ข้าราชการพลเรือนอาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
           มาตรา ๓๕ วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี และการลาหยุดราชการของข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
           มาตรา ๓๖ เครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนและระเบียบการแต่งเครื่องแบบ ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น
           มาตรา ๓๗ บำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือนให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ลักษณะ ๓
ข้าราชการพลเรือนสามัญ
หมวด ๑
การกำหนดตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

           มาตรา ๓๘ ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญมีชื่อในการบริหารงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และอาจมีตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานตามที่กระทรวงทบวง กรม ทำความตกลงกับ ก.พ. อีกก็ได้
           มาตรา ๓๙ ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญมี ๓ ประเภท
           (๑) ตำแหน่งประเภททั่วไป
           (๒) ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
           (๓) ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหารระดับกลางตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
           มาตรา ๔๐ ระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญมี ๑๑ ระดับ คือระดับ ๑ ระดับ ๒ ระดับ ๓ ระดับ ๔ ระดับ ๕ ระดับ ๖ ระดับ ๗ ระดับ ๘ระดับ ๙ ระดับ ๑๐ และระดับ ๑๑ โดยตำแหน่งระดับ ๑ เป็นระดับต่ำสุดเรียงสูงขึ้นไป เป็นลำดับตามความยากและคุณภาพของงานจนถึงตำแหน่งระดับ ๑๑ เป็นระดับสูงสุด
           ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญจะมีตำแหน่งใด ระดับใด อยู่ในส่วนราชการใด จำนวนเท่าใด ให้เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนด ทั้งนี้ ก.พ.จะมอบหมายให้องค์กรหรือส่วนราชการใดเป็นผู้กำหนดแทนตามหลักเกณฑ์มาตรฐานและวิธีการที่ ก.พ. กำหนดก็ได้
           การกำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งใดเป็นตำแหน่งระดับใดให้ประเมินความยากและคุณภาพของงานในตำแหน่งนั้นแล้วปรับเทียบกับบรรทัดฐานในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่ ก.พ.จัดทำไว้ตามมาตรา ๔๒การปรับตำแหน่งเทียบกับบรรทัดฐานในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้จัดตำแหน่งที่มีลักษณะงานอย่างเดียวกันเข้าประเภทและสายงานเดียวกัน และจัดตำแหน่งในสายงานเดียวกัน ที่มีความยากและคุณภาพของงานอยู่ในระดับเดียวกันโดยประมาณเข้ากลุ่มตำแหน่งเดียวกันและระดับเดียวกัน
           ในกรณีที่ส่วนราชการใดเห็นว่า ก.พ.กำหนดจำนวนตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญในส่วนราชการนั้นไม่เหมาะสม ส่วนราชการนั้นจะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก็ได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรแก้ไขการกำหนดจำนวนตำแหน่งนั้น ให้ส่งเรื่องให้ ก.พ.พิจารณาทบทวนใหม่
           มาตรา ๔๑ เมื่อ ก.พ.กำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งใด ระดับใด ในส่วนราชการใด จำนวนเท่าใด ตามมาตรา ๔๐ แล้วให้สำนักงาน ก.พ.ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรเงินงบประมาณในแต่ละปี สำหรับตั้งเป็นอัตราเงินเดือนของตำแหน่งดังกล่าวให้สอดคล้องกัน
           มาตรา ๔๒ ให้ ก.พ.จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งไว้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญทุกตำแหน่ง โดยจำแนกตำแหน่งเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงาน และจัดตำแหน่งในประเภทเดียวกันและสายงานเดียวกันที่คุณภาพของงานอยู่ในระดับเดียวกันโดยประมาณเป็นกลุ่มเดียวกันและระดับเดียวกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
           (๑) ตำแหน่งระดับ ๑ ได้แก่ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานระดับต้นมีลักษณะงานที่ไม่ยาก ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ ตรวจสอบ หรือสอนงานอย่างใกล้ชิด หรือปฏิบัติงานตามคำสั่ง แบบอย่าง หรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่อย่างแน่ชัดละเอียดถี่ถ้วนซึ่งปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถระดับพื้นฐานขั้นต้น
           (๒) ตำแหน่งระดับ ๒ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานระดับต้น มีลักษณะงานที่ค่อนข้างยากปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ ตรวจสอบ หรือสอนงานเป็นระยะ หรือปฏิบัติงานตามคำสั่ง แบบอย่าง หรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่อย่างกว้าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ความสามารถระดับพื้นฐานขั้นสูง หรือ
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ค่อนข้างยาก ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ ตรวจสอบ หรือสอนงานเป็นระยะ หรือปฏิบัติงานตามคำสั่ง แบบอย่างหรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่อย่างกว้าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้ได้รับการอบรมหรือมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในงานที่ไม่ยากมาแล้ว
           (๓) ตำแหน่งระดับ ๓ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานระดับต้น มีลักษณะงานที่ยากพอสมควร ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบบ้าง หรือปฏิบัติงานตามคำสั่ง แบบอย่างหรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่บ้าง ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาที่ ก.พ.รับรองให้บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งระดับนี้ หรือ
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ยากพอสมควร ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ ตรวจสอบ หรือแนะนำบ้าง หรือปฏิบัติงานตามคำสั่ง แบบอย่าง หรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่บ้าง ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้ได้รับการอบรมหรือมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในงานที่ค่อนข้างยากมาแล้ว
           (๔) ตำแหน่งระดับ ๔ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานระดับต้น มีลักษณะงานที่ยาก ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ ตรวจสอบ หรือแนะนำเฉพาะในบางกรณีที่จำเป็น ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาที่ ก.พ.รับรองให้บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งระดับนี้
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ยากปฏิบัติงานภายใต้การกำกับ ตรวจสอบ หรือแนะนำเฉพาะในบางกรณีที่จำเป็นในการปฏิบัติงานจำเป็นต้องแก้ปัญหาค่อนข้างบ่อย ต้องประยุกต์ประสบการณ์และความชำนาญงาน เพื่อปรับวิธีการและแนวดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้ได้รับการอบรมหรือมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในงานที่ยากพอสมควรมาแล้ว หรือ
           (ค) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานระดับต้นในงานสนับสนุนมีลักษณะงานต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และควบคุมผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานสูงพอสมควร
           (๕) ตำแหน่งระดับ ๕ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีลักษณะงานที่ค่อนข้างยากมากปฏิบัติงานโดยไม่จำเป็นต้องมีการกำกับ ตรวจสอบ หรือแนะนำ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาที่ ก.พ.รับรองให้บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งระดับนี้
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ค่อนข้างยากมาก ปฏิบัติงานโดยไม่จำเป็นต้องมีการกำกับ ตรวจสอบ หรือแนะนำ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้ได้รับการอบรมหรือมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในงานที่ยากมาแล้ว หรือ
           (ค) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานในงานเทคนิค งานสนับสนุนงานช่างฝีมือ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ มีลักษณะงานต้องกำกับแนะนำ ตรวจสอบ และควบคุมผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานสูง
           (๖) ตำแหน่งระดับ ๖ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ยากมาก ปฏิบัติงานโดยจำเป็นต้องมีการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในงานที่รับผิดชอบค่อนข้างมาก ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงานและประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถปฏิบัติงานในความรับผิดชอบด้วยตนเองได้
           (ข) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานเทียบเท่ากองในงานสนับสนุนของส่วนราชการ หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ มีลักษณะงานต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และบังคับบัญชาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานค่อนข้างสูงมากหรือตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยากและคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน หรือ
           (ค) ตำแหน่งสำหรับลักษณะงานวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และประสบการณ์สูงในงานวิชาชีพเฉพาะ
           (๗) ตำแหน่งระดับ ๗ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานที่เป็นกอง มีลักษณะงานจัดการและต้องกำกับ ตรวจสอบ และบังคับบัญชาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากพอสมควรซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานสูงมาก หรือตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานเทียบเท่ากอง หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบความยาก และคุณภาพของงานสูงมากเทียบได้ระดับเดียวกัน
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ยากเป็นพิเศษ ปฏิบัติงานโดยจำเป็นต้องมีการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในงานที่รับผิดชอบมากซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และประสบการณ์สูงมากหรือลักษณะงานตรวจและแนะนำการปฏิบัติราชการ หรือลักษณะงานตรวจการในงานเทคนิคเฉพาะด้าน หรือตรวจการในงานหลักตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการระดับกรม หรือ
           (ค) ตำแหน่งสำหรับลักษณะงานวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และประสบการณ์สูงมากในงานวิชาชีพเฉพาะ
           (๘) ตำแหน่งระดับ ๘ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานที่เป็นกอง มีลักษณะงานจัดการและต้องกำกับ ตรวจสอบ และบังคับบัญชาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากพอสมควรซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานสูงมากเป็นพิเศษ หรือตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานเทียบเท่ากอง หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานสูงมากเป็นพิเศษเทียบได้ระดับเดียวกัน
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีลักษณะงานที่ยากมากเป็นพิเศษ ปฏิบัติงานโดยจำเป็นต้องมีการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในงานที่รับผิดชอบเป็นประจำ หรือลักษณะงานช่วยหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือลักษณะงานตรวจและแนะนำการปฏิบัติราชการ หรือตรวจการในงานเทคนิคเฉพาะด้านหรือตรวจการในงานหลักตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการระดับกรม ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และประสบการณ์สูงมากเป็นพิเศษ หรือ
           (ค) ตำแหน่งสำหรับลักษณะงานวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และประสบการณ์สูงมากเป็นพิเศษในงานวิชาชีพเฉพาะ
           (๙) ตำแหน่งระดับ ๙ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในฐานะรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัด
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือทบวง ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงแต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี หรือผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
           (ค) ตำแหน่งสำหรับลักษณะงานวิชาชีพเฉพาะหรือลักษณะงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง และมีความเชี่ยวชาญและผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการด้านนั้น
           (ง) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานที่สูงกว่ากอง ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานหลักตามอำนาจหน้าที่ของกรม และเป็นงานที่มีความหลากหลาย ความยาก และมีคุณภาพของงานสูงมากกว่ากอง หรือ
           (จ) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีลักษณะงานตรวจและแนะนำการปฏิบัติราชการ หรือลักษณะงานให้คำปรึกษาของส่วนราชการระดับกระทรวงทบวง หรือลักษณะงานอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน
           (๑๐) ตำแหน่งระดับ ๑๐ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัด
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในฐานะรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือทบวง รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงแต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี หรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
           (ค) ตำแหน่งสำหรับลักษณะงานวิชาชีพเฉพาะหรือลักษณะงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงมาก และมีความเชี่ยวชาญและผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการด้านนั้น
           (ง) ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าส่วนราชการระดับสถานเอกอัครราชทูตหรือเทียบเท่า
           (จ) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีลักษณะงานตรวจและแนะนำการปฏิบัติราชการ หรือลักษณะงานให้คำปรึกษาของส่วนราชการระดับกระทรวงทบวง ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว หรือลักษณะงานอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานเทียบได้ระดับเดียวกัน
           (๑๑) ตำแหน่งระดับ ๑๑ ได้แก่
           (ก) ตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือทบวง
           (ข) ตำแหน่งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงแต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
           (ค) ตำแหน่งสำหรับลักษณะงานวิชาชีพเฉพาะหรือลักษณะงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตามอำนาจหน้าที่หลักของกระทรวงหรือทบวง ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติโดยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงมากเป็นพิเศษ อีกทั้งทรงคุณวุฒิและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ หรือ
           (ง) ตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ความยาก และคุณภาพของงานสูงมากเป็นพิเศษเทียบได้ระดับเดียวกับตำแหน่งอื่นในระดับนี้
           ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้แสดงประเภทตำแหน่ง ชื่อของสายงานลักษณะงานโดยทั่วไปของสายงาน ชื่อของกลุ่มตำแหน่ง หน้าที่และความรับผิดชอบของกลุ่มตำแหน่ง ลักษณะงานที่ปฏิบัติ คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะต้องมี และระดับของตำแหน่งในกลุ่มนั้นด้วย

หน้า 1 | หน้า 2 | หน้า 3   หน้าถัดไป